of 26 /26
Startup: นนนนน นนนนนนนนนน นนนนนนนนน นนนนนนนนนนน Startup: Definition, Importance, and Research Guidelines นนนนนนนน นนนนน 1 Chaiwat Baimai นนนนนนนน ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป “Startup” ปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปป ปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปป Startup ปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปป ปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป Startup ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป Startup ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปป Startup ปปปปปปปปปปปปป “ปปปปปปปปปปปปปปปปปปป” ปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ป ปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปป ปปปปปปปปป Startup ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปป ปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป 1 ปปปปปปปปปปปปปปป ปปปปปปปปปปปปปปปปป e-mail: [email protected] 1

executivejournal.bu.ac.thexecutivejournal.bu.ac.th/.../Orifiles/60129_Orifile.docx · Web viewความค ดใหม ๆ น นเก ดข นมากมายจากห

  • Author
    others

  • View
    4

  • Download
    0

Embed Size (px)

Text of executivejournal.bu.ac.thexecutivejournal.bu.ac.th/.../Orifiles/60129_Orifile.docx · Web...

Startup: นิยาม ความสำคัญ และแนวทางการทำวิจัย

Startup: Definition, Importance, and Research Guidelines

ชัยวัฒน์ ใบไม้[footnoteRef:1] [1: คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ e-mail: [email protected] ]

Chaiwat Baimai

บทคัดย่อ

ปัจจุบันมีการกล่าวถึงคำว่า “Startup” กันอย่างกว้างขวางในฐานะตัวหลักที่สำคัญในการเติบโตของประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการให้นิยามที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้ว Startup นั้นคืออะไร และมีความหมายครอบคลุมในมิติใดบ้าง ดังนั้น วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือ การนำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับ Startup เพื่อช่วยให้นักศึกษารวมไปถึงผู้ประกอบการเข้าใจความหมายและความสำคัญของ Startup อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า Startup เป็นลักษณะของ “การเป็นผู้ประกอบการ” รูปแบบหนึ่ง และประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของธุรกิจประเภทนี้คือ การคิดค้นนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ผลจากการทบทวนวรรณกรรมยังพบว่า นวัตกรรมที่ส่งผ่านผู้ประกอบการส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย เนื่องจาก Startup มีพัฒนาการมาจากหลากหลายรูปแบบ วิวัฒนาการนี้จึงนำไปสู่คำถามในการวิจัย จากพื้นฐานของทฤษฎีฐานทรัพยากรและความสามารถขององค์กร เพื่อค้นหาว่า ความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรส่งผลต่อการอยู่รอดและเติบโตของ Startup รูปแบบต่าง ๆ หรือไม่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวต้องการการพัฒนาและพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อไปในอนาคต

คำสำคัญ: การเป็นผู้ประกอบการ นวัตกรรม

Abstract

Nowadays, the term “startup” has gained prominence as an engine of growth amid the ongoing global economic slowdown. However, there is no clear definition of what the actual meanings of startup is, and no clarify on the extent of its coverage boundary. Thus, the objective of this article is to present the idea related to startup in order to help students and entrepreneurs increase much understanding about this subject. A review of the literature shows that startup is a subset of “entrepreneurship”, and the focal aspect of startup is innovation invented in various patterns. The review also came to the conclusion that innovation transferred through entrepreneurs positively leads to an increase in the long run trend rate of economic growth. Since startup has evolved from different categories, the evolution of such firm based on the resource and capability framework guides to the following research question: “How do a capability to manage resource allocation affect the survival and the growth of different types of startup?” This idea needs to be further developed and be empirically examined in the future.

Keywords: Entrepreneurship, Innovation

บทนำ

แต่เดิมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ มักเกิดจากความได้เปรียบจากปริมาณฐานทรัพยากรโดยเฉพาะจำนวนแรงงานและทุนที่แต่ละประเทศมี ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่มีปริมาณแรงงานจำนวนมาก เช่น จีน ไทย หรือประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก จึงเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน จากการผลิตสินค้าโดยอาศัยต้นทุนแรงงานต่ำ จึงสามารถผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า (สุวรรณ หวังเจริญเดช, 2557) และทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้สินค้า บริการ แรงงานและเงินทุน จากประเทศต่าง ๆ เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลกที่มีแนวโน้มจะมีประชากรสูงวัยมากขึ้น (นงนุช สุนทรชวกานต์ และพิสุทธิ์ กุลธนวิทย์, 2559) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจึงเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศที่ยังคงใช้นโยบายเศรษฐกิจบนพื้นฐานแบบเดิม ๆ ที่เน้นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากการใช้แรงงานในสัดส่วนที่สูง และใช้การขับเคลื่อนจากพื้นฐานธุรกิจแบบเก่า มีแนวโน้มที่จะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในการทำการค้าระหว่างประเทศในระยะยาว

นโยบายของรัฐบาลในยุคปัจจุบันจึงเน้นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จากรูปแบบเดิมที่เน้นการพึ่งพาการผลิตจากการใช้ทรัพยากรเป็นฐาน (Resource-based) และการผลิตจากการใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor-intensive) ไปสู่การใช้ความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based) หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) (เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา, 2553) ที่เน้นการผลิตจากการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ตามนโยบายที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจึงตั้งอยู่บนฐานของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ หรือธุรกิจ Startup ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

แม้จะมีการกล่าวถึงธุรกิจ Startup กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการให้นิยามความหมายที่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว Startup นั้นคืออะไร และมีความหมายครอบคลุมในมิติใดบ้าง จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการให้นิยามของคำว่า Startup พบว่า มีการให้ความหมายเกิดขึ้นในหลายแง่มุม แต่ล้วนเป็นนิยามที่กำหนดขึ้นจากบริษัทที่ปรึกษา หรือนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ Startup มาก่อน อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการให้นิยามความหมายด้วยมุมมองในเชิงวิชาการด้วยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือ การกำหนดนิยามความหมาย และการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวธุรกิจ Startup เพื่อให้นักศึกษาและผู้ประกอบการเข้าใจมุมมองของธุรกิจ Startup ในมิติด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจนและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าใจความหมายของ Startupตรงกันแล้ว สุดท้ายจึงผนวกแนวคิดทั้งหมด เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการทำวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องต่อไป

1. นิยามของธุรกิจ Startup

หากพิจารณาจากมุมมองด้านสังคมศาสตร์ ในมิติของการบริหารธุรกิจ Startup ถือเป็นมโนคติ (Concept) ที่มีระดับของความเป็นนามธรรมสูง (High Level of Abstraction) (Zikmund, 2003) ซึ่งสิ่งมีระดับความเป็นนามธรรมสูงมักเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ความหมายของสิ่งที่กำลังพิจารณาจึงไม่มีความชัดเจนแน่นอน การทำความเข้าใจสิ่งนั้นจึงขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์และภูมิหลังของแต่ละบุคคล ฉะนั้น บุคคลจะมีมโนมติเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการตีความและการแลกเปลี่ยนความหมายตามบริบทที่กำลังศึกษา เมื่อกระบวนการคิดวิเคราะห์สิ่งที่เป็นนามธรรมสูงมักอ้างอิงความคิดเห็นของแต่ละบุคคลเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ ข้อสรุปที่ได้จึงเป็นอัตวิสัย (Subjectivity) (Sekaran & Bougie, 2010) ที่มีลักษณะคลุมเครือและไม่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีการกำหนดนิยามที่แน่นอนเป็นอันดับแรกเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ก่อนที่จะศึกษารายละเอียดส่วนอื่นของ Startup ในลำดับต่อไป

หากแปลความหมายอย่างตรงตัว Startup หมายถึง ธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นใหม่ หรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจโดยทั่วไป Startup เป็นรูปแบบธุรกิจลักษณะหนึ่งที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการนั้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือเป็นรูปแบบของ “การเป็นผู้ประกอบการ” รูปแบบหนึ่ง ฉะนั้น ก่อนที่จะนิยามความหมายของธุรกิจ Startup จึงควรเริ่มต้นจากการทบทวนวรรณกรรม เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) หรือการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เป็นขั้นตอนแรกก่อน จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า การศึกษาเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการนั้นสามารถพิจารณาได้ในหลายแง่มุม กล่าวคือ แนวคิดในช่วงแรก การศึกษาเน้นไปที่ การค้นหาคุณลักษณะเฉพาะตัวของผู้ประกอบการแต่ละบุคคล (Entrepreneurial Traits) ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ แต่สุดท้ายแนวคิดดังกล่าวไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่า คุณลักษณะที่แท้จริงของผู้ประกอบการนั้นเป็นเช่นไร ส่วนแนวคิดทางจิตวิทยา ความหมายของคำว่าผู้ประกอบการคือ ผู้ที่มีความหลงใหลและมีความเชื่อในสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง (Passion) และสามารถยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จนนำไปสู่การเริ่มก่อตั้งกิจการในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อมาแนวคิดต่อการเป็นผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่า ลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการมิใช่คุณลักษณะด้านบุคคลหรือด้านจิตวิทยา แต่เป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง จนนำไปสู่แนวคิดทาง การจัดการ ที่มองว่า ผู้ประกอบการ หมายถึง ผู้นำทรัพยากรด้านการจัดการ (Management Resources) ได้แก่ คน เงินทุน เครื่องจักรและวัตถุดิบ มารวมกัน เพื่อดำเนินงานให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จะเห็นได้ว่า ในแง่มุมทางการจัดการ หน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) มักเป็นการศึกษาในระดับองค์กร (Firm Level) โดยองค์กรที่มีคุณลักษณะของ การมุ่งเน้นความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Orientation) โดยทั่วไปจะมีลักษณะเด่น 5 ประการ ได้แก่ “อำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง” (Autonomy) “ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม” (Innovativeness) “ความสามารถในการเผชิญกับความเสี่ยง” (Risk Taking) “การทำงานในเชิงรุก” (Proactiveness) และ “ความสามารถในการรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรง” (Competitive Aggressiveness) (Covin & Slevin (1991); Lumpkin & Dess (1996); Lee & Peterson (2000)) ผลการวิจัยส่วนใหญ่ยังพบด้วยว่า ปัจจัยการมุ่งเน้นความเป็นผู้ประกอบการ เป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา (ปรารถนา หลีกภัย, 2556) หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง หากพิจารณาตามแนวคิดทางการตลาด ผู้ประกอบการถือว่า เป็นผู้ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าหรือบริการที่แตกต่าง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ศาสตร์ด้านการบริหารธุรกิจพัฒนามาจากพื้นฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีวิวัฒนาการมายาวนานกว่า ดังนั้น หากศึกษาย้อนกลับไปในยุคต้น ๆ โดยพิจารณาตามจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ จะพบว่า ผู้ประกอบการคือ ปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่นำมาใช้ในการผลิต (Factors of Production) นอกเหนือจาก ที่ดิน ทุนและแรงงงาน เพื่อนำมาผสมผสานกันผลิตสินค้าออกมาขายในตลาด อย่างไรก็ตาม มิติทางเศรษฐศาสตร์ยังแบ่งได้เป็น 4 มุมมองย่อย ได้แก่ 1) เศรษฐศาสตร์ นีโอคลาสสิค (Neoclassic Economics) มองผู้ประกอบการเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกลไกตลาด ซึ่งอาจเป็นตลาดสมบูรณ์ (Perfect Market) ตลาดกึ่งแข่งขันผูกขาด (Monopolistic Market) ตลาดแบบผูกขาด (Monopoly) หรือตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) 2) เศรษฐศาสตร์องค์การอุตสาหกรรม (Industrial Organization Economics) มองผู้ประกอบการตามภาคอุตสาหกรรม โดยในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีลักษณะโครงสร้าง (Structure) ที่เป็นตัวกำหนดการดำเนินการ (Conduct) และนำไปสู่กลยุทธ์ (Strategy) ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายกำหนดขึ้น 3) เศรษฐศาสตร์จากทฤษฎีเกมส์ (Game Theory) มองผู้ประกอบการของแต่ละอุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาด จะแข่งขันกันด้วยการตอบโต้ด้วยการเลือกใช้กลยุทธ์ที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร แม้แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ต่อการเป็นผู้ประกอบการจะพิจารณาได้จากหลากหลายแง่มุม แต่มิติสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการอย่างชัดเจน เกิดจากมุมมองด้านสุดท้ายคือ 4) ด้านการแข่งขันเชิงพลวัต (Dynamic Competition) โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนที่มีแนวคิดว่า ความสมดุลในตลาดของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว เพราะผู้ประกอบการจะเป็นกลไกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาดจากจุดที่เกิดการสมดุล จนนำไปสู่สภาพที่เป็นพลวัตด้วยการสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบการแข่งขัน แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการศึกษาของ Schumpeter (1934) ที่แสดงให้เห็นว่า การเป็นผู้ประกอบการนั้นมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดที่เกี่ยวกับนวัตกรรมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยที่ Joseph Schumpeter เสนอความคิดว่า เมื่อทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด การจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation) ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจพัฒนาไปได้ และความเหมาะสมอยู่ที่การโยกย้ายทรัพยากรให้ไปอยู่กับผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เมื่อเกิดการโยกย้ายทรัพยากรระหว่างผู้ประกอบการรายต่าง ๆ จะทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีประสิทธิภาพล้มเลิกไป และเกิดการถ่ายเททรัพยากรจากผู้ที่เคยครอบครอง ไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในตลาด ทั้งผู้ที่อยู่ในธุรกิจมาก่อน (Incumbents) และผู้เล่นรายใหม่ (New Entrants) เมื่อทั้งผู้ที่เคยอยู่ในตลาดและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด เป็นผู้ที่ระบบคัดเลือกผ่านกลไกการแข่งขันในระบบทุนนิยมแล้วว่า มีประสิทธิภาพสูงหรือสามารถค้นคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จากการผสมผสานทรัพยากรให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ได้ นวัตกรรมในมุมมองของ Schumpeter เกิดขึ้นได้ 5 รูปแบบคือ 1) การนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพหรือสินค้าใหม่ 2) การใช้วิธีการผลิตแบบใหม่ 3) การเปิดตลาดใหม่ 4) การค้นหาแหล่งขายวัตถุดิบใหม่หรือการค้นหาวัตถุดิบชนิดใหม่ และ 5) การก่อตั้งองค์กรใหม่ จากแนวคิดดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงเป็น ผู้ที่ผลักดันให้ตลาดอยู่นอกจุดสมดุล โดยที่ผู้มีประสิทธิภาพต่ำจะถูกคัดออกไปจากตลาด ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดเป็นกระบวนการวนซ้ำอย่างต่อเนื่อง และทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมพัฒนาต่อไปได้ Schumpeter เรียกกลไกของสิ่งใหม่ที่เข้ามาทดแทนสิ่งเก่านี้ว่า การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) ด้วยแนวคิดนี้ ผู้ประกอบการจึงถือเป็นแกนหลักที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา และนวัตกรรมที่ส่งผ่านผู้ประกอบการจะส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในท้ายที่สุด ดังนั้น กระบวนการพัฒนานวัตกรรมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากบทบาทของผู้ประกอบการ ในฐานะที่เป็นตัวหลักสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมขึ้น (พันธอาจ ชัยรัตน์, 2547) ในขณะที่ Shane & Venkataraman (2000) เสนอต่อด้วยว่า การเป็นผู้ประกอบการจะเกิดขึ้นเมื่อโอกาสและความพร้อมมาเจอกัน ต่อมา Drucker (2014) ได้ผนวกแนวคิดเรื่องการเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรมเข้ากับหลักการบริหารจัดการธุรกิจ ต่อยอดไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ความสำเร็จของธุรกิจมิได้เกิดจากการมีทรัพยากรมากกว่าคู่แข่ง หรือความสามารถในการคิดสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมเท่านั้น แต่จะเกิดจากความสามารถของผู้ประกอบการในการแปรเปลี่ยนสิ่งใหม่ที่ค้นพบให้กลายเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในตลาดด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ว่า ผู้ประกอบการคือ เจ้าของกิจการผู้รับความเสี่ยงในการจัดการทรัพยากรที่หาได้เพื่อจัดตั้งธุรกิจใหม่ขึ้น ส่วนการเป็นผู้ประกอบการคือ กระบวนการในการแสวงหาโอกาสใหม่ในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยทั่วไป ธุรกิจมักเริ่มต้นจากทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ขอบเขตของธุรกิจในช่วงแรกจึงมักมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ดังนั้น จึงมักมีการเชื่อมโยงลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการ กับแนวคิดเรื่องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) โดยมีการให้คำจำกัดความของ SMEs ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 จาก “จำนวนการจ้างงาน” หรือ “มูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน” เป็นเกณฑ์ในการจำแนกผู้ประกอบการ โดยกิจการที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 และ 51-200 ล้านบาท ถือเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจขนาดกลาง ตามลำดับ (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, 2560) จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “ขนาด” ของธุรกิจทั้งจำนวนแรงงานและทุน เป็นประเด็นสำคัญในการบ่งชี้ถึงการเป็นผู้ประกอบการ และเมื่อใดก็ตามที่มีการก่อตั้งกิจการขึ้นมาใหม่ ก็จะถือว่ามีผู้ประกอบการเกิดขึ้น ไม่ว่าลักษณะของการดำเนินธุรกิจนั้นจะอยู่ในรูปแบบใด

ต่อมา เมื่อสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป จากผลของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การขนส่งที่ทันสมัยและการเปิดเสรีทางการค้า ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้โลกมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าเดิม หรือเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ขึ้น ในบริบทของการบริหารธุรกิจ การเชื่อมโยงกันมากขึ้นทำให้เกิดผลกระทบหลักคือ โลกาภิวัตน์ด้านการผลิต ได้แก่ การหาปัจจัยการผลิตในราคาต่ำได้จากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และโลกาภิวัตน์ด้านการตลาด ซึ่งหมายถึง การที่สินค้าที่ผลิตได้สามารถวางจำหน่ายได้ทั่วทุกมุมโลก เสมือนตลาดรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ผลจากโลกาภิวัตน์ทั้ง 2 ด้านทำให้จำนวนสินค้า บริการ เงินทุนและแรงงาน จากแหล่งต่าง ๆ สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรหมแดนได้อย่างเสรี และส่งผลให้ประเทศที่มีเคยใช้ประโยชน์จากปริมาณแรงงานและทุนสูง มีแนวโน้มจะค่อย ๆ สูญเสียความได้เปรียบในระยะยาว

ในระยะหลัง งานทางวิชาการที่สนับสนุนด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจมาก่อนมักติดกับดักของความสำเร็จ (Success Trap) จากสิ่งที่ตนสร้างมา โดยที่บริษัทเหล่านี้มักมองข้ามนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาด เพราะได้ลงทุนไปกับการพัฒนาแบบเดิมจนทำให้เกิดต้นทุนจม (Sunk Cost) อย่างมหาศาล และมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าการเติบโต ตัวอย่างที่เป็นได้ชัดเจนคือ กรณีของ Kodak และ Polaroid ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจจากระบบอนาลอคไปสู่ระบบดิจิทัล ในขณะเดียวกันกับที่ผู้เล่นรายใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มักจะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลาดอย่างสิ้นเชิง (Disruptive Innovation) (Christensen, 1997) เช่น การเกิดขึ้นของ Facebook หรือ Grab Taxi เป็นต้น ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมจึงควรเกิดจากการสนับสนุนกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่มิได้ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของปริมาณแรงงานและทุน แต่เป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแทน ซึ่งรูปแบบของดังกล่าวก็คือ ธุรกิจ Startup นั่นเอง

จากที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า Startup เป็นการดำเนินธุรกิจรูปแบบหนึ่ง บนพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะจัดว่าเป็นนวัตกรรมต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความใหม่ ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ (สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์, พักตร์ผจง วัฒนสินธุ์, อัจฉรา จันทร์ฉาย และประกอบ คุปรัตน์, 2553) ดังนั้น ธุรกิจที่จะจัดว่าเป็น Startup จึงต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง 3 มิติดังกล่าวด้วย ดังนี้

1. ความใหม่ (Newness) ลักษณะของสิ่งที่เป็นนวัตกรรมต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยอาจเป็นการทำสิ่งเดิม แต่มีการปรับปรุงด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า หรือเป็นการคิดค้นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในกรณีที่เป็นการคิดค้นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน การเริ่มต้นธุรกิจอาจเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากนวัตกรรมรูปแบบนี้จะมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง แต่หากประสบความสำเร็จผู้ประกอบการก็จะได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงเช่นกัน ดังนั้น คุณค่าของความใหม่จึงเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้ธุรกิจ Startup เติบโตได้อย่างอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น

2. ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) ความคิดใหม่ ๆ นั้นเกิดขึ้นมากมายจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หรือศูนย์ R&D ของบริษัทต่าง แต่ความใหม่เพียงอย่างเดียวจะไม่มีความหมาย หากสิ่งที่พัฒนาขึ้นมานั้นมิได้สร้างความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ด้วย กล่าวคือ สิ่งใหม่นั้นต้องสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์นั้น ในมุมมองของผู้ประกอบการ มูลค่าเพิ่มในที่นี้ อาจเป็นการทำธุรกิจโดยใช้ทรัพยากรน้อยลงและไม่ถือครองสินทรัพย์จำนวนมาก แต่สามารถทำกำไรได้สูงขึ้น หรือเป็นการยกระดับด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สุดท้ายมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องสามารถพัฒนาต่อยอดไปจนนำออกขายสู่ตลาดได้

3. การใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Knowledge and Creativity) มิติสุดท้ายของสิ่งที่จัดว่าเป็นนวัตกรรมคือ สิ่ง ๆ นั้นต้องไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนแบบ แต่เป็นสิ่งใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับมูลค่าเพิ่มในตัวผลิตภัณฑ์ หรือต้องเกิดจากความคิดริเริ่มจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงสามารถสรุปเป็นนิยามในทัศนะของผู้เขียนได้ว่า “Startup หมายถึง ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสร้างสินค้าหรือบริการที่เกิดมูลค่าเพิ่ม จนกลายเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว”

โดยสรุป นิยามที่ผู้เขียนกำหนดขึ้นน่าจะเป็นการให้ความหมายที่กระชับและชัดเจน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับความหมายที่กำหนดขึ้นจาก กระทรวงอุตสาหกรรม (2560) ที่ระบุว่า “Startup หมายถึง กลุ่มบุคคลหรือองค์กรธุรกิจขนาดเล็กที่จัดตั้งขึ้น ด้วยบุคลากรและทรัพยากรจำนวนน้อย แต่มีความคิดที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นธุรกิจที่แตกต่าง” ก็น่าจะได้บทสรุปที่มีความหมายสอดคล้องกันมาก อย่างไรก็ตาม จากนิยามทั้ง 2 จะเห็นได้ว่า Startup จะมีลักษณะค่อนข้างคล้ายคลึงกับ SMEs แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทั้ง 2 ประเภทแตกต่างกันคือ SMEs มักเริ่มต้นกิจการภายใต้แนวคิดที่จะพัฒนาธุรกิจให้มีความมั่นคง เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในขณะที่แนวคิดหลักของ Startup เน้นไปที่โอกาสในการนำเสนอสิ่งใหม่และแตกต่าง โดยเฉพาะการสร้างความแตกต่างโดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ Software หรือ Application ต่าง ๆ หรือที่มักเรียกว่า “Tech Startup” จุดเด่นของ Tech Startup คือ เป็นธุรกิจที่สามารถขยายขอบเขตของผู้ใช้ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรเท่าเดิม ธุรกิจจึงสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ Startup แตกต่างจาก SMEs หลังจากมีความเข้าใจที่ตรงกันในการให้ความหมายของธุรกิจ Startup แล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะกล่าวถึงความสำคัญของ Startup ต่อระบบเศรษฐกิจ ดังรายละเอียดที่จะกล่าวในส่วนต่อไป

2. ความสำคัญของ Startup

ในยุคเก่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการดำเนินธุรกิจยังไม่มีความซับซ้อนมากนัก ปัจจัยสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จคือ ความได้เปรียบจากจำนวนทรัพยากร ที่มีในแต่ละประเทศ รวมไปถึงความได้เปรียบจากปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปริมาณแรงงานและทุน เพื่อแปรสภาพทรัพยากรที่มีให้กลายเป็นสินค้าออกสู่ตลาด ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงสามารถเติบโตได้ด้วยการเพิ่มจำนวนแรงงานและทุนเข้าไปในกระบวนการผลิตแบบเดิม และประเทศที่มีปัจจัยดังกล่าวในปริมาณที่มากกว่าผู้อื่นจึงมักเกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ ระยะหลัง ลักษณะของการดำเนินธุรกิจมีความเป็นพลวัตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากที่อยู่ในตลาดมาก่อนได้ปิดตัวลง ภายหลังผ่านพ้นวิกฤต รัฐบาลต้องการให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการ SMEs และจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นในปี พ.ศ. 2543 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพของ SMEs ให้เป็นหน่วยงานเศรษฐกิจที่สำคัญในการเพิ่มการจ้างงาน รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของประเทศ แม้ว่าการดำเนินการจะประสบความสำเร็จในช่วงเริ่มแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2549 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 อัตราการทำกำไรเฉลี่ยของ SMEs ในภาพรวมมีค่าลดลง และอัตราการจดทะเบียนเลิกกิจการอยู่ในระดับสูงมากถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้จดทะเบียนทั้งหมด สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากสัดส่วนต้นทุนด้านวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงานหรือบุคลากรที่สูงขึ้น (วิทูร เจียมจิตต์ตรง, 2553) สถานการณ์ของ SMEs ยังคงแย่ลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะตกต่ำต่อไปอีกในอนาคต เนื่องจากปริมาณทรัพยากรที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1) การเข้าสู่สังคมชราภาพ (Aging Society) ที่ทำให้แรงงานในวัยทำงานจำนวนลดลง ส่งผลให้ต้นทุนด้านแรงงานมีค่าสูงขึ้น และ 2) มูลค่าของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะมูลค่าการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดส่งออกรายสำคัญของไทย ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนถึง 10.9% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย (ดังแสดงในตารางที่ 1) สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของผู้นำคนใหม่ที่เปลี่ยนไปในเชิงกีดกันทางทางการค้า (Protectionism) อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อต้นทุนทรัพยากรการผลิตทั้งแรงงานและทุนมีค่าสูงขึ้น แต่ตวามสามารถในการระบายสินค้าลดลง จึงทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากการผลิต แม้อาจจะเพิ่มขึ้นได้ แต่การเพิ่มอยู่ในอัตราที่ลดลง (Diminishing Marginal Productivity) ดังนั้น ปริมาณแรงงานและเงินทุนอาจช่วยให้ประเทศเติบโตต่อไปได้ในระยะสั้น แต่ไม่อาจรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวได้

ตารางที่ 1 มูลค่าของการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา

รายการ

(หน่วย: ล้านเหรียญ)

2556

2557

2558

2559

2559

(ม.ค.-ก.พ.)

2560

(ม.ค.-ก.พ.)

มูลค่าการค้า

37,582.10

38,471.21

37,919.93

36,552.67

5,555.63

7,303.22

มูลค่าส่งออก

22,953.01

23,891.61

24,055.95

24,494.86

3,611.83

3,884.59

มูลค่านำเข้า

14,629.09

14,579.60

13,863.98

12,057.81

1,943.80

3,418.63

ดุลการค้า

- 8,323.92

- 9,312.01

- 10,191.97

- 12,437.05

- 1,668.03

- 465.96

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (2560)

วิวัฒนาการของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยนั้นมีมาอย่างยาวนาน แต่เริ่มต้นเกิดขึ้นจริงจังอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่ง ซึ่งได้เริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2505 จนกระทั่งสัดส่วนของผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 20 ความสำคัญของภาคเกษตรกรรมยังคงสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมจนถึงปี พ.ศ. 2519 ในระยะต่อมา ความสำคัญของภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีความสำคัญเพิ่มขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มแซงหน้าภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม รายได้ประชาชาติที่แท้จริงต่อหัวของไทยก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แรงงานส่วนใหญ่ยังคงเหลืออยู่ในภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างสูงพอที่จะดูดซับแรงงานนี้ได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2529 ความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมทวีความสำคัญเพิ่มมากกว่าภาคเกษตรกรรม สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากโครงสร้างการส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรมได้แซงหน้ามูลค่าส่งออกสินค้าขั้นปฐม ในยุคนั้นประเทศไทยถือเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจากทุกภูมิภาคจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานต่ำ และได้รับการกล่าวขานให้เป็นประเทศที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็น “ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่” (Newly Industrialized Country; NIC) ประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียในช่วงปี พ.ศ. 2531 แต่สุดท้ายประเทศไทยมิได้พัฒนาไปเป็น NIC เนื่องจากระดับรายได้ของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยจึงคงเป็นได้เพียงประเทศกำลังพัฒนาที่ระดับรายได้อยู่ในกลุ่ม Lower Middle Income Country เท่านั้น เป้าหมายในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยในยุคต่อมา จึงเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าออกให้ขึ้นอยู่กับสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ปัจจัยสินค้าทุนในรูปทรัพยากรมนุษย์และเครื่องจักรเป็นหลัก จนก้าวข้ามไปสู่ระดับรายได้ประชาชาติที่แท้จริงต่อหัวถึงระดับ Upper Middle Income Country ในระยะต่อมา

แต่จนถึงปัจจุบัน ผลการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมามีศักยภาพในการเติบโตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และยังคงมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคต (แสดงดังภาพที่ 1) หากเป็นเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง หรือยังคงตกอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “ติดกับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) (Lee, 2013) ต่อไปอีก ดังนั้น ความสามารถทางการแข่งขันของแต่ละประเทศในอนาคต จึงไม่ได้ขึ้นกับจำนวนแรงงานและเงินทุน แต่จะขึ้นอยู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยในการผลิต ซึ่งสามารถทำได้โดยการสร้างนวัตกรรมหรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ผ่านกลไกที่สำคัญคือ Startup ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ Startup จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ในฐานะการเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้านต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบัน ซึ่งในประเทศไทย Tech Startup ที่สำคัญอยู่ใน 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์ (E-commerce หรือ E-marketplace) 2) ธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน (Fin Tech) 3) ธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร (Agri Tech) 4) ธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา (Ed Tech) 5) ธุรกิจเกี่ยวกับภาคบริการ และ 6) ธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนา Software และ Application ในรูปแบบต่าง ๆ

ที่มา: สมประวิณ มันประเสริฐ และดนุพล อริยสัจจากร (2557)

ภาพที่ 1 แนวโน้มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม Startup ไม่สามารถเกิดขึ้นและพัฒนาต่อไปได้ หากขาดสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ หน่วยงานต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งหน่วยงานขึ้น เพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเงินทุนต่อ Startup เช่น หน่วยบ่มเพาะ (Incubator), ผู้ร่วมลงทุน (Angle Investor), กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital), การระดมทุนจากมวลชน (Crowd Funding), บริษัทที่ค้นหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโต (Accelerator), สถานที่ทำงานร่วมกัน (Co-working Space), หรือการสร้างเครือข่ายกลางระหว่างผู้ประกอบการและกลุ่ม Startup (Business Matching) เนื่องจากนวัตกรรมจะเกิดในระบบตลาดที่สิ่งใหม่ทำลายสิ่งเก่า ดังนั้น นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบตลาดที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ผลจากการทบทวนวรรณกรรมชี้ให้เห็นว่า ระบบที่เหมาะสมต่อการพัฒนาธุรกิจ Startup คือ ระบบที่ทำให้ Incumbents อ่อนแอกว่า New Entrants (สมประวิณ มันประเสริฐ และก้องภพ วงศ์แก้ว, 2559) ดังนั้น ภาครัฐจึงควรกำหนดกลไกในการสนับสนุนให้ New Entrants มีโอกาสเติบโต และสามารถแข่งขันกับ Incumbents ได้อย่างยุติธรรมในตลาดที่แข่งขันอย่างเสรี การแข่งขันกันในระบบอย่างเสรีจะกดดันให้ Incumbents ที่ไม่สามารถพัฒนาตนเองอยู่เสมอให้ออกไปจากตลาด และในขณะเดียวกันจะเป็นตัวกระตุ้นให้ New Entrants ค้นคิดนวัตกรรมใหม่เข้ามาแทนที่ เกิดเป็นกระบวนการทำลายอย่างสร้างสรรค์ และทำให้การพัฒนานวัตกรรมกระจายตัวอย่างทั่วถึงทั้งระบบ ตัวอย่างการสนับสนุนจากภาครัฐที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การจัดตั้ง National Startup Center โดยกระทรวงการคลัง การลดหย่อนทางภาษี (Tax Incentive) ผ่าน BOI ด้วยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขด้านความช่วยเหลือ จากเดิมที่ผู้ยื่นขอต้องเป็นโครงการหรือบริษัทที่มีเครื่องจักรแล้วเท่านั้น เปลี่ยนเป็นการขอจากบุคคลที่สร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรมก็สามารถรับการส่งเสริมจาก BOI ได้ หรือการส่งเสริมการขยายตัวของ Startup ไปยังต่างประเทศสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ เป็นต้น

3. แนวทางการทำวิจัย Startup

Startup ที่เกิดขึ้นมีพัฒนาการมาจากหลากหลายรูปแบบ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า รูปแบบแรกที่ถือว่าเป็นพื้นฐานของการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการคือ การเริ่มก่อตั้งกิจการขึ้นมาใหม่ (New Entrants) ซึ่งกิจการที่ใหม่นี้อาจเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้งที่ไม่เคยดำเนินธุรกิจมาก่อน (Entrepreneurial Startup) หรืออาจเกิดจากผู้ก่อตั้งที่แยกตัวออกมาจากบริษัทที่อยู่ในตลาดมาก่อน (Entrepreneurial Spin-off) อย่างไรก็ตาม จากผลของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรอย่างเสรี พบว่า กิจการใหม่เป็นจำนวนมากมิได้เกิดจากกลุ่มบุคคล แต่เกิดจากการขยายการลงทุนของบริษัทแม่ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ กิจการใหม่ที่คิดค้นโดยบริษัทแม่เอง (Parent Spin-off), กิจการร่วมค้า (Joint Venture), และธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ซึ่งลักษณะของกิจการใหม่แต่ละประเภทแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 รูปแบบของการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ

ประเภทของกิจการใหม่

ลักษณะการเกิดขึ้นของกิจการ

1. เกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้ง

1.1 Entrepreneurial Startup

1.2 Entrepreneurial Spin-off

1.1 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้งที่ไม่เคยดำเนินธุรกิจมาก่อน

1.2 แยกตัวออกมาจากบริษัทที่อยู่ในตลาดมาก่อน

2. เกิดจากการขยายการลงทุนของบริษัทแม่

2.1 Parent Spin-off

2.2 Joint Venture

2.3 Franchise

2.1 คิดค้นโดยบริษัทแม่เอง

2.2 คิดค้นโดยบริษัทแม่หลายบริษัทร่วมมือกัน

2.3 คิดค้นโดยบริษัทแม่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ (Franchisor) และ ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ (Franchisee)

จากรูปแบบของการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการลักษณะต่าง ๆ ในตารางที่ 2 นำไปสู่การค้นหาความจริงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ธุรกิจ Startup ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นกิจการใหม่ประเภทใด และ Startup ประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น มีผลประกอบการที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ และหากมีความแตกต่าง คำถามในการวิจัยอีกประเด็นหนึ่งคือ ความแตกต่างนี้เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด จากทฤษฎีฐานทรัพยากร (Resource-based View) สิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรมีผลประกอบการด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันมาจากทรัพยากร (Resources) และความสามารถ (Capabilities) ที่แต่ละองค์กรมี (Barney, 1991) แต่เนื่องจาก Startup ไม่เน้นปัจจัยเรื่องทรัพยากร ประเด็นสำคัญของการวิจัยจึงเน้นไปที่ การศึกษาแหล่งที่มาของความสามารถของธุรกิจ Startup ซึ่งข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นคือ ความสำคัญของผู้ก่อตั้งกิการใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้งหรือการก่อตั้งจากบริษัทแม่ น่าจะมีผลต่อความอยู่รอดในช่วงแรกของ Startup และส่งผลต่อการเติบโตในระยะถัดไปด้วย ประเด็นสุดท้ายคือ การตรวจสอบความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ที่สะสมมาในระดับบุคคลและระดับองค์กรว่า ความรู้ทั้งชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) หรือ ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) สามารถถ่ายทอดต่อไปได้ดังที่ Kogut & Zander (1992) แถลงไว้หรือไม่ และพื้นฐานความรู้และความสามารถที่แตกต่างกัน จะเป็นตัวกำหนดการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และผลประกอบการที่เหนือกว่าตามที่ McEvily & Chakravarthy (2002) ระบุไว้หรือไม่ แนวทางศึกษาทำได้โดยการตรวจสอบประวัติผู้ก่อตั้งกิจการ รวมถึงการโยกย้ายงานของผู้ก่อตั้ง และผลกระทบที่มีต่อผลประกอบการของบริษัทหลังการเกิดขึ้นของกิจการใหม่ ซึ่งประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นกรอบความคิดเบื้องต้นที่ต้องการการพัฒนาและพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ในลำดับต่อไป

บทสรุป

วิวัฒนาการของการพัฒนาประเทศไทยเริ่มจากการค้าโดยอิงวัตถุดิบจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์เกษตร เปลี่ยนไปเป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก จนมาสู่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดค้นนวัตกรรมในยุคปัจจุบัน Start Up เป็นรูปแบบธุรกิจลักษณะหนึ่งที่ใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน การที่จะพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้นั้นต้องส่งผ่านกลไกสำคัญที่ถือเป็นตัวกลางหลัก ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการ เมื่อนวัตกรรมเป็นแก่นหลักในการเป็นผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรม ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจโดยรวมจะพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่องหากสภาพแวดล้อมโดยรวมเอื้อต่อการเกิดขึ้น การอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจ Startup ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามไปสู่พื้นฐานเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริมธุรกิจ Startup ที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้น ในขณะที่บริบทการแข่งขันทางธุรกิจของตลาดในประเทศและตลาดโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะลดในอนาคต

บรรณานุกรม

กระทรวงอุตสาหกรรม. (2560). Startup. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2560, จากhttp://www.industry.go.th/industry/index.php/th/knowledge/item/10604-startup

นงนุช สุนทรชวกานต์ และพิสุทธิ์ กุลธนวิทย์. (2559). ความแตกต่างทางอาชีพต่อผลิตภาพของแรงงานสูงอายุไทย. วารสารนักบริหาร, 15(1), 42-61.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2560). ทรัมป์ออกรายงาน NTE เล่นงานไทย: จับตาค่าบาท อาวุธ ทรัพย์สินปัญญา. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2560, จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1491369857

ปรารถนา หลีกภัย. (2556). ปัจจัยนำความสามารถทางนวัตกรรมและผลต่อผลการดำเนินงานองค์กร. วารสารนักบริหาร, 33(4), 55-63.

วิทูร เจียมจิตต์ตรง. (2553). ปัจจัยภาวะผู้ประกอบการที่มีต่อผลประกอบการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์, พักตร์ผจง วัฒนสินธุ์, อัจฉรา จันทร์ฉาย และประกอบ คุปรัตน์. (2553). นวัตกรรม: ความหมาย ประเภท และความสำคัญต่อการเป็นผู้ประกอบการ วารสารบริหารธุรกิจ. 33(128), 49-65.

สมประวิณ มันประเสริฐ และก้องภพ วงศ์แก้ว. (2559). บทบาทภาครัฐภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทย. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2560, จาก https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=3425

สมประวิณ มันประเสริฐ และดนุพล อริยสัจจากร. (2557). การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผลกระทบต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย. วารสารประชากรศาสตร์, 30(2), 67-92.

สุวรรณ หวังเจริญเดช. (2557). กลยุทธ์การบริหารต้นทุนในยุคโลกาภิวัตน์. วารสารนักบริหาร, 30(3), 60-68.

เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา. (2553). Creative Economy ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย. วารสารนักบริหาร, 30(3), 23-28.

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. (2560). นิยาม SMEs. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2560, จาก http://www.sme.go.th/th/index.php/about-osmep/law/law-osmep/136-cat-define-smes/523-art-define-smes

Barney, J. B. (1991). Firm resources and sustained competitive advantage. Journal of Management, 17(1), 99-120.

Christensen, C. M. (1997). The innovator’s dilemma: when new technologies cause great firms to fail. Harvard Business School Press: Boston, MA.

Covin, J., & Slevin, D. (1991). Strategic management of small firms in hostile and benign environments. Strategic Management Journal, 10, 75-87.

Drucker, P. F. (2014). Innovation and entrepreneurship. Oxon, UK: Routledge.

Lee, K. (2013). Schumpeterian analysis of economic catch-up: knowledge, path-creation, and the middle-income trap. Cambridge: Cambridge University Press.

Lee, S., & Peterson, S. (2000). Culture, entrepreneurial orientation and global competitiveness. Journal of World Business, 35(4), 401-416.

Lumpkin, G. T., & Dess, G. G. (1996). Clarifying the entrepreneurial orientation construct and linking it to performance. Academy of Management Review, 21(1), 135-172.

Kogut, B., & Zander, U. (1992). Knowledge of the firm, combinative capabilities, and the replication of technology. Organization Science, 3, 383-397.

Lumpkin, G. T., & Dess, G. G. (1996). Clarifying the entrepreneurial orientation construct and linking it to performance. Academy of Management Review, 21(1), 135-172.

Schumpeter, J. A. (1934). The theory of economic development. New York: Oxford University Press.

Sekaran, U., & Bougie, R. (2010). Research methods for business: a skill building approach. West Sussex, UK: John Wiley & Sons.

Shane, S., & Venkataraman, S. (2000). The promise of entrepreneurship as a field of research. Academy of Management Review, 25(1), 217-226.

Zikmund, W. G. (2003). Business Research Methods. Cincinnati, OH: South-Western Thomson.

1